Hmong & Rice in Sapa

Story & Photo by Kanjana Hongthong

เพราะนาข้าวขั้นบันได ไม่ได้เป็นแค่นาขั้นบันได ไม่ได้เป็นแค่ฉากสวยๆ เอาไว้ให้มนุษย์ไปยืนโพสท่าหน้าทุ่งข้าวสีเขียวชอุ่ม แต่นี่คืออู่ข้าวอู่น้ำของผู้คน เป็นภูมิปัญญาของมนุษย์ เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน และเป็นอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายที่หลายคนนึกไม่ถึงเชียวล่ะ

sapa 1440

รถยิ่งวิ่งไต่เขาสูงขึ้นเท่าไหร่ ต้องอ้อมโค้งเขาอันคดเคี้ยวมากเท่าไหร่ ภาพของนาข้าวขั้นบันไดในแถบเวียดนามทางตอนเหนือก็ยิ่งคมชัดขึ้น และยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อนักท่องเที่ยวทุกคนพาตัวเองไปมองแถวรอบๆ ซาปา เทือกเขาสูงแบบนี้ สิ่งที่ขาดแคลนที่สุดคือพื้นที่ราบ นั่นทำให้ชาวม้งที่อยู่รอบๆ ซาปาจึงต้องพากันปรับพื้นที่ตามไหล่เขาให้เป็นนาข้าว เพื่อเนรมิตอู่ข้าวอู่น้ำของพวกเขา

sapa 1817

เท่าที่ฉันถามไถ่คนแถวซาปามา เขาว่านาขั้นบันไดของพวกม้งตามหมู่บ้านต่างๆ นั้น ทำกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว และลูกหลานชาวม้งทุกวันนี้ยังคงยึดมั่นในเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษของพวกเขา คือตั้งหน้าตั้งตาปลูกนาข้าวขั้นบันได และฝากปากท้องไว้กับนาบนที่สูง ทุกวันนี้ นาข้าวขั้นบันไดกลายเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของซาปา ที่ใครไปใครมาเป็นต้องถามหา ก็คงเหมือนฉันในวันนี้ ที่อยากพาสองตาไปมองนาข้าวขั้นบันไดแถวชานเมืองซาปา เด็กหนุ่มที่เรือนพักบอกว่า ไม่ใช่เรื่องยากเย็นนักหรอก เพราะไม่ว่าจะเร่ไปมุมไหนของชานเมือง ก็เห็นนาข้าวขั้นบันไดได้ทั้งนั้น

sapa 1653

sapa 1570 sapa 1947

เขากางลายแทงเมืองซาปา แล้วชี้เป้ามาให้ 3-4 หมู่บ้านที่คิดว่าได้ดูทั้งนาข้าวขั้นบันได และวิถีชีวิตของชาวม้งเผ่าต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ซาปา มีทั้งหมู่บ้านกั๊ตกั๊ต (Cat Cat) หมู่บ้านซินชัย (Sin Chai) หมู่บ้านทาวาน (Ta Wan) และหมู่บ้านทาฟิง (Ta Phing) จากนั้นบรรยายสรรพคุณของแต่ละหมู่บ้านให้ฟังอย่างละเอียด ไม่ลืมแม้กระทั่งพิกัด ระยะทางจากซาปา และระยะเวลาการเดินเท้าเข้าหมู่บ้าน ไปจนถึงความยากง่ายในการย่างก้าว ประมวลผลดูแล้ว จึงมาลงเอยที่หมู่บ้านซินชัย หมู่บ้านม้งที่ไม่ไกลจนเกินไปและน่าจะมีอะไรที่นอกเหนือจากนาข้าวขั้นบันไดให้สอดส่องอีกไม่ใช่น้อย ที่จริงตลอดสองข้างทางจากตัวเมืองซาปา ก็มีนาข้าวขั้นบันไดให้ดูเป็นระยะ เรียกว่าออเดิร์ฟกันไปตลอดทาง

sapa 1882 sapa 1640 sapa 1689

ส่วนที่หมู่บ้านซินชัยเองก็มีนาข้าวขั้นบันไดให้นักเดินทางได้มาลั่นชัตเตอร์เหมือนกัน แต่ที่น่าดูกว่านาข้าวขั้นบันไดคือผู้คน เพราะบังเอิญเป็นวันขึ้นปีใหม่ ชาวม้งแห่งหมู่บ้านซินชัยจึงพากันหอบลูกเด็กเล็กแดงออกมาเฉลิมฉลองอย่างคึกครื้น และแน่นอนว่า งานแบบนี้ พวกเขาพากันแต่งตัวมากันแบบจัดเต็ม จึงเป็นโชคดีของฉันที่ได้เห็นอาภรณ์ของชาวม้งเผ่านี้อย่างจุใจ เครื่องเงินชุดใหญ่ ต่างหู สร้อยคอ กำไลข้อมือ ถูกระดมมาประดับประดา และที่น่าดูคือพวกอาภรณ์ที่พวกเขาทักถอขึ้นเอง ผ้าโพกหัว อิริยาบถของแม่ลูกอ่อนที่หย่อนลูกไว้ในห่อผ้าด้านหลัง ริ้วรอยบนดวงหน้าของหญิงชราประจำหมู่บ้าน ควันไฟจากเตาหุงต้มที่อยู่กลางลานหมู่บ้าน และแก้มสีแดงระเรื่อของเด็กน้อยเพราะโดนความหนาวตบตี ทุกอย่างน่าดูไม่น้อยไปกว่านาข้าวขั้นบันไดเลย

sapa 1920

sapa 1107 sapa 1143

ข้อมูลเพิ่มเติม
– มีเที่ยวบินไปกลับฮานอยทุกวัน และจากฮานอยมีรถไฟไปซาปาทุกวัน วันละหลายขบวน
– ที่พักในซาปามีมากมาย มีทัวร์ไปเที่ยวตามจุดต่างๆ ของซาปา มีมอเตอร์ไซด์ให้เช่า และบริการฟรี wifi
– คนไทยไปเที่ยวเวียดนามไม่ต้องทำวีซ่า
– เงินเวียดนามสกุลด่อง 1 ดอลลาร์สหรัฐแลกได้ประมาณ 21,000 ด่อง
– เช็คสภาพอากาศในซาปาก่อนเดินทางได้ที่ www.weather.com

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0