ชุบชีวิตกาลเวลา ธีรภาพ โลหิตกุล

Story by Keeta Bunyapanit / Photo by ธีรภาพ โลหิตกุล

เรื่องราวและวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตถูกแช่อิ่มไว้ในขวดโหลแห่งกาลเวลา ซุกซ่อนอยู่ในหีบสมบัติเก่าเก็บที่ถูกลืมทิ้งไว้ในพิพิธภัณฑ์ชื่อจำยากที่ครูสังคมศึกษามักจะลืมบ่อยๆ ตัวเลขพุทธศักราช คริสต์ศักราช รหัสลับประหลาดเข้าใจยาก เหล่านี้เป็นวัตถุดิบสำคัญของนักเขียนและช่างภาพสารคดีร่วมสมัยแห่งยุค คุณธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดีร่วมสมัย นำมาปัดฝุ่นเล่าใหม่ ดังไวน์ในขวดเก่าที่นานวันยิ่งเลิศรส ด้วยมนต์แห่งถ้อยอักขระ ประกอบภาพแบบสัจนิยม ชุบชีวิตกาลเวลาที่หลับใหลให้ตื่นขึ้น เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในปัจจุบัน

Teeraphap DSC03258

ท่ามกลางหนังสือบนชั้นวางติดผนังรอบทิศในบ้านหลังเล็กย่านห้วยขวาง เจ้าของบ้าน ในชุดลำลองกำลังจดบันทึกแผนงานสำหรับการเดินทางครั้งใหม่ ในฐานะนักเขียนสารคดีรางวัลวรรณกรรมนานาชาติลุ่มน้ำโขง 2557 หรือแม่โขงอะวอร์ด ที่มีผลงานโดดเด่น สืบเนื่องมาเป็นเวลากว่า 30 ปี งานทั้งหมดล้วนถ่ายทอดชีวิตผู้คน สถานที่ ประเพณีวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของอุษาคเนย์ ผ่านงานเขียน ภาพถ่าย รวมถึงงานในรูปแบบสารคดีทางโทรทัศน์ ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้คนซึ่งใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมายาวนานบนผืนดินอุษาคเนย์ แม้คนแต่ละชนชาติจะมีวิถีชีวิต คติ ความเชื่อ และขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่าง หากสิ่งที่ถ่ายทอดทำให้ได้เห็นถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันในหลายรูปแบบ จนทำให้เห็นว่าเราทั้งหมดล้วนเป็นหนึ่ง มิอาจแยกออกจากกันได้

Teeraphab1

“เราอยู่กับหนังสือตั้งแต่เด็กเพราะที่บ้านปลูกฝังเรื่องการอ่าน มันซึมซับมาตั้งแต่เด็กๆ อ่านงานของนักเขียนที่มีชื่อเสียงอย่าง รงค์ วงษ์สวรรค์, อาจินต์ ปัญจพรรค์ สมัยนั้นมีนิตยสารฟ้าเมืองไทย คุณพ่อคุณแม่อ่านกัน ส่วนผมก็จะชอบเรื่องหวือหวาน่าตื่นเต้นตามวัย เรื่องสั้นของพันตำรวจเอกปกรณ์ ปิ่นเฉลียว เริ่มอ่านนวนิยายหลายเรื่อง “แต่งานที่ประทับใจและส่งผลต่อชีวิต คือ งานวรรณกรรมเพื่อชีวิตหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา อย่างงานของดอกเตอร์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ทำให้เราเข้าใจว่าการเขียนเรื่องจริง ไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อเสมอไป เช่น ‘เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง’ ที่ภาษาสำนวน วิธีการนำเสนอเหมือนเรื่องสั้นหรือนวนิยาย จนทำให้เริ่มจับแนวตัวเองได้ว่าเราชอบอะไร คือมันเป็นเรื่องจริงแต่มันสนุกอย่างกับนิยาย เมื่อชอบอ่านแนวนี้มากขึ้นจนเราได้พบเสน่ห์ของมัน

Teeraphab5

“‘เรื่องจริงที่สนุก’ เป็นเสน่ห์ของงานสารคดี ได้ทั้งอรรถรส มุมมองและแง่คิด เพราะมันคือเรื่องจริงมันคือที่มาของงานเขียน ‘สารคดีที่มีชีวิต’ ประกอบกับภาพถ่าย อย่างที่พูดกันว่า หนึ่งภาพ ล้านความหมาย หลายอารมณ์ พันความรู้สึก” กล้องถ่ายรูปจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ “เป็นเรื่องดีที่เทคโนโลยีการถ่ายภาพช่วยให้เราไม่ต้องแบกกล้องหนักๆ เหมือนสมัยก่อน เดี๋ยวนี้กล้องคอมแพ็คตัวเล็กๆ ก็มีศักยภาพเท่ากล้องมืออาชีพตัวใหญ่ งานเขียนสารคดี ถ้าเราสามารถถ่ายรูปได้ก็จะทำให้คล่องตัวมากขึ้น บางครั้งก็จดบันทึกด้วยภาพถ่าย ที่จริงการจดไดอารีเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผมมาก เมื่อก่อนมีสมุดจดเป็นสิบเล่ม พอผ่านประสบการณ์มาระยะหนึ่ง เราใช้ความจำและการวิเคราะห์มากกว่า บางสถานการณ์เราต้องใช้ความรู้สึกเพื่อบอกเล่าเรื่องราวระหว่างทางด้วย

Teeraphab6

“ระหว่างทางในการค้นคว้าช่วยปะติดปะต่อเรื่องราวให้สิ่งเหล่านั้นเผยชีวิตชีวา ยกตัวอย่างการลงพื้นที่ที่ ‘อำเภอค่ายบางระจัน’ เราได้ค้นพบ ‘เตาเผาแม่น้ำน้อย’ เครื่องปั้นดินเผารุ่นราวคราวเดียวกับเตาทุเรียงสมัยกรุงศรีฯ ที่ถูกสร้างขึ้นมาจำนวนมาก มากพอจะเรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมทำมือของชาวบ้านบางระจันเลยทีเดียว “เครื่องปั้นดินเผา – เตาเผาแม่น้ำน้อย เป็นไห 4 หู ที่ปั้นด้วยมือ คนที่ปั้นต้อง รู้ดิน รู้น้ำ รู้ไฟอ่อน – แก่ รู้มือหนัก – เบา และต้องผลิตจำนวนมากในเวลาเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้ฝีมือ เมื่อนำเรื่องราวมาผสมกับวีรกรรมการต่อสู้เพื่อปกป้องกรุงศรีฯ ของชาวบ้านบางระจัน เราก็จะได้ภาพของวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ทั้งสร้างความเจริญรุ่งเรืองด้านการค้าเตาเผาส่งออกด้วย ขณะที่รัฐฯ พยายามโปรโมทเพียงเรื่องราวการต่อสู้ของชาวบ้าน ‘อำเภอบางระจัน’ จนทำให้อำเภอค่ายบางระจันเงียบเหงา เพราะไม่ค่อยมีใครทราบเรื่องราว

Teeraphab7

“โชคดีวันที่ลงพื้นที่ แม้จะเป็นวันหยุดราชการ แต่คุณสาม พนักงาน รปภ. ที่ดูแลพิพิธภัณฑ์กลับให้การต้อนรับเป็นอย่างดี และพาคณะเราเดินชม พร้อมให้ข้อมูลอย่างละเอียด คุณสามบอกว่าเขาเห็นเครื่องปั้นดินเผานี้ตั้งแต่เด็ก แล้วก็อยากให้ทุกคนได้มาเห็นเช่นกัน เพราะมันเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเรามีที่มา คุณสามสามารถอธิบายเรื่องทุกอย่างที่เกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาแม่น้ำน้อยได้ไม่ต่างกับไกด์หรือนักวิชาการ และทำงานอย่างไม่มีวันหยุด “ผมนึกสงสัยว่าถ้าไม่มีคุณสาม ที่นี่จะเป็นอย่างไร มันคงจะถูกทิ้งร้างและถูกลืมในที่สุด ผมจึงตั้งชื่อบทความนี้ว่า ‘วีรชนหลังพระ ณ ลำน้ำน้อย’ เพื่อเล่าเรื่องราวของชุมชนในอดีตที่ยังมีชีวิตเพราะวีรชนคนรุ่นหลังที่ชื่อคุณสาม ดังนั้น สารคดีจะมีชีวิตขึ้นมาได้ เพราะเราได้ใส่เลือดเนื้อและจิตวิญญาณของผู้คนเข้าไปจริงๆ”

Teeraphab4 Teeraphab3

อุษาคเนย์ เป็นแหล่งหลอมรวมชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่สำคัญของโลก ในปี 2532 คุณธีรภาพได้ย้ายการทำงานจาก องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือ อสท. เข้าไปทำสารคดีรายการโลกสลับสี ของบริษัท แปซิฟิค อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น ซึ่งเป็นบริษัทแรกๆ ที่ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตการทำงานของคุณธีรภาพ “ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และปัจจัยต่างๆ นานา ทำให้ภูมิภาคนี้ไม่มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน แต่กลับมีเสน่ห์ เพราะหลายๆ สิ่งถูกนำมากองรวมกันไว้ที่นี่ และผู้คนก็ใช้ชีวิตอยู่กับมันอย่างไม่ขัดเขิน ยกตัวอย่างมื้ออาหารของคนไทยก็ได้ ตอนเช้าเรากินโจ๊กที่เป็นวัฒนธรรมของจีนแผ่นดินใหญ่ ตอนกลางวันเปลี่ยนมากินข้าวมันไก่ มื้อนี้มาจากเปอร์เซีย ส่วนตอนเย็นเรากินแกงกะทิ ซึ่งเป็นอารยธรรมอินเดีย

“เห็นไหมว่าเราใช้ชีวิตท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาตลอด เราได้เห็นชีวิตที่มีสีสัน เป็นพหุสังคมที่งดงาม ในภูมิภาคนี้ เด็กๆ หลายเชื้อชาติศาสนาในชุมชนจับมือเล่นด้วยกัน ผู้คนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน บางครั้งชาวไทยพุทธไปช่วยชุมชนชาวมุสลิมสร้างมัสยิด ชาวคริสต์ยุโรปมาช่วยงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ของชาวจีน เรื่องเช่นนี้มีให้เห็นกันบ่อยๆ เป็นเอกภาพบนความหลากหลายที่น่าสนใจ

Teeraphab9

ทริปที่ประทับใจและมีสีสันที่สุดน่าจะเป็นการเดินทางไปค้นหาต้นแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อถ่ายทำรายการโลกสลับสี ผมทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์รายการ จำได้ว่าเป็นการเดินทางที่ทรหดอดทนมาก ทีมงานทั้งหมดต้องเดินตามไกด์ชาวพม่าเข้าไปในป่าที่ไม่ใช่ทางท่องเที่ยวของนักเดินป่า ลัดเลาะชายแดนไทย – พม่า ปรากฏว่าระหว่างทางมีเสียงปืนยิงขึ้นฟ้าราว 7 นัด ทุกคนกลัว ไกด์ไม่ยอมเดินทางไปต่อ เพราะข้างหน้าเข้าเขตแดนของขุนส่า พ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ชาวพม่า จิตสำนึกของความรักตัวกลัวตายเกิดขึ้นอัตโนมัติ ทางเดียวจึงต้องถอย

Teeraphab10

“ทีมงานประชุมกันว่าเราจะต้องทิ้งเทปรายการที่ยังถ่ายไม่เสร็จจริงหรือ ทิ้งไปก็น่าเสียดาย เราจึงตกลงแล้วตัดสินใจติดต่อขุนส่า เพื่อขอผ่านเข้าไปศึกษาต้นน้ำ เราต้องทำหนังสือถึงขุนส่าเป็นเรื่องเป็นราว ทางนั้นยินยอมส่งกองกำลังมาดูแลเราระหว่างทาง ประกอบด้วยกองทัพภาคที่ 3 ของพม่า และกองกำลังของขุนส่า ที่จริงเป็นการชี้เส้นทางเลี่ยง ปิดบังธุรกิจผิดกฎหมายขุนส่าเสียมากกว่า สุดท้ายเราก็ได้ถ่ายทำรายการจนเสร็จ แม้ต้องทุลักทุเลและผ่านอุปสรรคมากมาย ถ้าถามผมตอนนี้ให้ไปเสียงตายขนาดนั้น ไม่เอาดีกว่า (หัวเราะ) แต่ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ”

จากการทำงานอันทุ่มเท ทั้งการเดินทาง สืบค้นข้อมูล และถ่ายทอดออกมาอย่างมีชั้นเชิงผ่านวรรณศิลป์อันงดงาม ให้ความรู้สึกละเมียดละไม ด้วยกระบวนการคิดและการใส่ ‘หัวใจ’ ลงไปในงาน ชุบชีวิตให้อดีตได้เผยแสดงตัวตนออกมา ด้วยการเดินทางอันยาวนานบนเส้นทางของนักเขียนสารคดี ผู้เปิดโลกกว้างให้ผู้อ่านได้พบเห็น เรียนรู้ และเข้าใจ ในวิถีที่แตกต่างกันของมนุษย์

ต้องการซื้อเล่มเดือนนี้ย้อนหลัง คลิกที่รูปปกนิตยสารได้เลย

1-VacationistJan15

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0