ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ – ธรรมชาติกับความเจริญมันอยู่ร่วมกันได้

Story & Photo by Keeta Bunyapanit

“ทะเลมันสวยนะ ผมมีความจำตอนเด็กเกี่ยวกับสถานที่ที่ดีมาก แต่มันทรุดโทรมลงเรื่อยๆ นี่เรื่องจริง ถ้ามันดีขึ้นผมก็ไม่ต้องทำแล้ว” น้ำเสียงจริงจังพลันตลบขึ้นมาหลังพูดคุยกันอย่างออกรส เรารู้สึกว่านักวิชาการผู้เปี่ยมอารมณ์ขันและคารมคมคายคนนี้ จะเปลี่ยนท่าทีเมื่อเราเข้าสู่บทสนทนาเรื่องสิ่งแวดล้อม

Dr Torn2169

เราอาจเคยอ่านหนังสือสารคดีเชิงท่องเที่ยวที่มีมุกตลกเฉพาะตัว หรือฟังและชมรายการวิทยุโทรทัศน์ที่มีอาจารย์ธรณ์ ชื่อที่นิสิตนักศึกษาเรียกกันอย่างเป็นกันเอง นั่นเป็นความสุขเล็กๆ ในชีวิตที่เขาได้แสดงให้เราเห็น แต่ท่ามกลางเรื่องราวในสื่อบันเทิงกึ่งสาระแสดงออกมา ความเข้มข้นในการเป็นนักคิดและนักวิชาการก็ยังไม่ขาดตกบกพร่อง ตามข้อมูลใน วิกิพีเดีย เราได้ข้อมูลว่าอาจารย์รับภาระหน้าที่หลายอย่าง ทั้ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักมีนวิทยา นักเขียน อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เว็บมาสเตอร์เว็บไซต์ทะเลไทย รวมถึงสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ ตอนทะเลไทย ของรายการแฟนพันธุ์แท้ ปี พ.ศ. 2546 วันนี้เราจะได้ทำความรู้จัก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในตัวตนแบบที่เรียกได้ว่าฮาร์ดคอร์ “คนที่ทำงานด้านนี้ส่วนใหญ่จะมีความผูกพันกับสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เด็ก คุณพ่อของผมท่านเป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผมติดตามท่าน ไปตามสถานที่ต่างๆ อายุ 3 – 4 ขวบ ก็เดินทางแล้ว ได้เห็นอุทยานแห่งชาติที่ต่างๆ ก่อนที่มันจะได้รับเลือกเป็นอุทยานเสียอีก สิมิลัน ตะรุเตา ผมก็เห็นก่อน แม้กระทั่งห้วยขาแข้ง พ่อผมก็เป็นคนเปิด คุณพ่อผมเปิดไป 80 อุทยาน พ่อผมเป็นประธานกรรมาธิการอุทยานแห่งชาติ เกือบ 20 ปี

“พอเห็นมาหมด มันก็ติดตัวเรามา อะไรที่เราเห็นบ่อยๆ เราก็จะรักมันเอง เพราะความใกล้ชิดกับมัน คุณพ่อผมไม่เคยบังคับว่าให้ผมเลือกอะไร แต่มันเป็นการบังคับกลายๆ (หัวเราะ) ทั้งที่จริงๆ ผมทำงานด้านศิลป์เก่งกว่าด้านวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ ตั้งแต่นั้นก็เลือกทำงานด้านทะเล และจริงจังกับมันมาก” ความทรงจำในวัยเด็กมีผลต่อชีวิตการทำงานในปัจจุบัน ท้องฟ้าและทะเลกว้างใหญ่ได้บันดาลให้เขาได้ทำสิ่งที่เชื่อมั่นว่าถูกต้อง เมื่อความเจริญคืบคลานและกัดกินธรรมชาติไปอย่างไม่ลดละ เขาจึงต้องลุกขึ้นมาเป็นปากเสียงให้กับป่าไม้ ภูเขา ทะเล ที่พูดไม่ได้

จริงๆ ก็ชอบทั้งป่าและทะเลพอกันนะ มันไม่ต่างอะไร เพียงแต่ว่าทะเลมันแทบจะไม่ค่อยมีคนทำเลย เมื่อหลายสิบปีก่อนมันไม่เหมือนทุกวันนี้ที่ทะเลเป็นที่สนใจของคนทั่วไป อาจารย์ ดร.สุรพล สุดารา นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่คนไทยรู้จักดี ท่านมีบทบาทมากและเป็นนักอนุรักษ์คนแรกๆ ของเมืองไทย ผมทำงานกับท่านมา 8 ปี ดำน้ำ ทำทุกอย่าง สำรวจแนวปะการัง หญ้าทะเล ทั่วอ่าวไทย ผมก็เป็นคนแรกๆ เป็นชุดบุกเบิก “การอนุรักษ์กับการท่องเที่ยวมันต้องไปด้วยกัน ที่ไหนเขาก็ทำกัน มันเป็นอย่างนี้ตั้งนานแล้ว ที่จริงผมไม่ได้ทำงานอนุรักษ์นะ ผมมีหน้าที่สอนหนังสือ เวลามีใครมาขอความช่วยเหลือก็ช่วยไป ให้มันถูกต้องตามที่ควรจะเป็น อีกอย่างหนึ่ง คือ ผมเขียนหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือท่องเที่ยวของผมมีอยู่ร้อยกว่าเล่ม ผมกล้าพูดว่าผมเขียนหนังสือคู่มือท่องเที่ยวเป็นเล่มๆ นี่มากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย มีบทความท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่าห้าพันเรื่อง ผมเดินทางไปทั่วโลกโดยใช้เงินตัวเอง

Dr Torn 2159

“เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศไทยนี่มันพัฒนาได้ งานแรกใน สปช. ที่ผมทำคือการผลักดันให้ ทะเลอันดามันขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทั้งการอนุรักษ์ ท่องเที่ยว และความเป็นอยู่ ของประชาชน เพื่อให้การอนุรักษ์กับการท่องเที่ยวมันไปด้วยกันได้ ผมไม่ได้แค่เห็นด้วย แต่ผมเชื่อมั่นเลย เมื่อไหร่ที่ทั้งสองอย่างมันไม่ไปด้วยกัน ไม่มีทาง ประเทศไทยไม่ใช่สิงคโปร์ที่จะสร้าง Man Made (การสร้างทรัพยากรมนุษย์) ขึ้นมา แม้แต่สิงคโปร์เองก็เอียงกลับมาที่ธรรมชาติ มันคือทางของเรา

การท่องเที่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มันแทบจะแยกกันไม่ออก มันรวมไปทั้งศิลปวัฒนธรรม วิถีชาวบ้าน ชุมชน ประเพณี สิ่งแวดล้อม มีอย่างเดียวคือการเที่ยวห้างที่จะไม่เกี่ยว (หัวเราะ) แต่ผมถามว่ามีนักท่องเที่ยวสักกี่คนที่จะไม่ไปวัดพระแก้ว ภูเก็ต พัทยา ทุกอย่างมันรวมอยู่ในคอนเซปต์ของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อยู่แล้ว” ในฐานะประธานอนุกรรมการทรัพยากรทางทะเล อาจารย์ธรณ์เป็นเสมือนหัวหอกในการเรียกร้องให้อันดามันซึ่งถือเป็นทรัพยากรอันมีค่าของไทยได้รับการเชิดชู นั่นหมายถึง ทรัพยากรธรรมชาติของไทยจะได้รับการเหลียวแลอย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้ง “เป้าหมายในชีวิตตอนนี้ของผมมีอยู่อย่างเดียว คือให้อันดามันได้ยูเนสโก มันไม่ง่ายนะ ถ้าได้ มันก็คือชิ้นโบว์แดงในชีวิต รายการของผม (เที่ยวกับธรณ์ NEWS1) หนังสือที่ผมเขียน วิทยุที่ผมทำ ผมทำเพราะผมรัก ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ผมทำเพราะอยากทำ มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ไม่อนุรักษ์คุณก็ตาย ถึงตอนนี้มันคนละยุคแล้ว ยุคสมัยที่ผมยังเด็ก ธรรมชาติกับคนเป็นเพื่อนกัน เราทำอะไร เราก็เกรงใจธรรมชาติ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราก็ค่อยๆ ลืม ลืมว่าเราเคยอยู่ติดดิน เคยเล่นน้ำ ลืมสิ่งที่มันปกคลุมหัวเราไว้ เราก็คิดว่าเราจะทำอะไรให้ดีกว่า แทนที่จะทำอะไรที่มันติดดิน เราก็สร้างอะไรที่มันลอยฟ้า จากที่มีต้นไม้คอยปกคลุมหัวเราไว้ เราก็สร้างอะไรที่มันแข็งๆ ขึ้นมาแทน ตึก อาคาร แค่นั้นธรรมชาติก็คงไม่ว่าอะไรเราหรอก “แต่ปัญหามันเกิดขึ้นเมื่อเราลืมไปว่าครั้งหนึ่งเราเคยรักเขา เมื่อเราลืม เราก็เลยคิดว่าเขาเป็นแค่คนใช้ เป็นแค่อะไรก็ได้ที่เราจะปู้ยี่ปู้ยำ เพราะเราไม่รักเขาอีกแล้ว เราอยากใช้เขาเท่านั้น เราก็ใช้เขา แต่เราลืม ลืมว่าจริง ๆ แล้วเขามีพลังอำนาจมาก เขาแค่ทน ไม่ใช่เขาทน ทนกับยอมมันต่างกัน แต่ตอนนี้เขาเลิกทนแล้ว คุณก็เห็น มีที่ไหนน้ำท่วม ไฟป่า เกิดขึ้นทุกปี มีที่ไหน พายุหิมะ น้ำแข็งละลาย เขาไม่ได้เอาคืนเฉพาะประเทศไทย และทุกประเทศเองก็ตระหนักดีว่า สู้ไม่ได้” สิ่งที่อาจารย์ธรณ์กำลังพูดกับเราเป็นยิ่งกว่าสารคดีของ National Geographic แต่มันคือความจริงที่เกิดขึ้นหน้าบ้านเรา ความเดือดร้อนที่ไม่ใช่เพียงแค่อากาศร้อนขึ้น ไม่ใช่แค่ค่าไฟแพงขึ้น แต่มันคือวิถีชีวิตของมนุษย์ที่กำลังถอยหลังเข้าคลอง

Dr Torn 2171

“ทั้งหมดแล้วมันก็ต้องกลับมาคิด โดยเฉพาะประเทศไทยที่เราใช้ทรัพยากรไปแล้วเยอะมาก ป่าเราเหลือน้อยกว่าญี่ปุ่น ที่ผมไป ญี่ปุ่นมีป่าไม่น้อยกว่า 68 เปอร์เซ็นต์ เกาหลี 63 เปอร์เซ็นต์ แม้กระทั่งฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน มีป่า 37 – 38 เปอร์เซ็นต์ พวกนี้เป็นประเทศที่เจริญแล้วทั้งนั้น “ประเทศไทยมีป่าอยู่ 26 – 28 เปอร์เซ็นต์ น้อยกว่าญี่ปุ่นตั้ง 2 เท่าครึ่ง คุณเคยรู้ข้อมูลเหล่านี้บ้างไหม (หัวเราะ) แล้วก็บอกว่าความเจริญมันต้องแลกกับธรรมชาติ มันแลกกันตรงไหน ทั้งที่เราก็แห่กันไปดูเมืองเขา ญี่ปุ่น เกาหลี แค่นี้ก็เชื่อได้แล้วว่าป่ากับความเจริญมันอยู่ร่วมกันได้ แต่สิ่งที่เราทำคือเราถลุงหมด แล้วธรรมชาติเขาก็เอาคืนยาว เขาไม่เอาคืนสั้นๆ หรอก ภาวะโลกร้อน ไม่ใช่ว่าปี 2 ปีก็จบได้ ที่แย่คือคนรุ่นหลัง “ที่แบบภัยธรรมชาติมันกลับมาเป็นสึนามิ แผ่นดินไหว มันไม่ใช่ นั่นมันหนังฮอลลีวูด ที่เอาคืน มันเจ็บปวดกว่านั้น มันทำให้ทะเลไม่มีปลา ในนาไม่มีข้าว บ้านเมืองคุณปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น เจ๊ง มันทำให้คุณเดือดร้อน ทำมาหากินยากขึ้น นั่นแหละปัญหา เงินมันก็ไม่ได้งอกออกมาจากผืนดิน ประเทศไทยก็ต้องจับปลาไปขาย ปลูกข้าวไปขาย แล้วอย่าคิดว่าคุณปั่นหุ้นเป็นโบรกเกอร์แล้วคุณจะรอดนะ โดนกันหมด ไม่มีใครรู้ ค่าไฟประเทศไทยแพงเท่าญี่ปุ่น มันจะค่อยๆ กิน คุณไม่รู้หรอก คุณได้แต่บ่นว่า ทำไมค่าไฟแพงจัง ทำไมข้าวของแพงขึ้น คุณไม่รู้หรอกว่านั่นคือการทวงคืนของธรรมชาติ”

“ที่ผมทำในทุกวัน คือ พยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลัง ในชีวิตนี้ผมไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว อะไรที่อยากทำก็ทำไปหมดแล้ว คนเราทุกคนมีหน้าที่ ในหลวงเคยตรัสไว้ คำว่าท้อไม่เคยอยู่ในประเด็น”

ฉากสุดท้ายของภาพยนตร์อาจไม่ได้ Happy Ending อย่างที่ทุกคนคาดหวัง แต่ความหวังนั่นแหละที่จะเป็นการส่งมอบพลังให้คนรุ่นหลังได้สานต่อให้สิ่งดีงามเหล่านั้นเกิดขึ้นในบ้านของเรา

ต้องการซื้อเล่มเดือนนี้ย้อนหลัง คลิกที่รูปปกนิตยสารได้เลย

3-VacationistMar15

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0